กฎหมายรัฐธรรมนูญ
ในการศึกษาถึง กฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ เราจะต้องทราบมาก่อนว่า กฎหมายมหาชนคืออะไร และ ต่างจากกฎหมายเอกชนอย่างไรบ้าง
กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงฐานะและอำนาจที่รัฐกับพลเมืองในรัฐหรือความเกี่ยวพันระหว่างรัฐกับรัฐ กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายอาญา กฎหมายปกครอง กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายแรงงาน เป็นต้น
กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่กำหนดฐานะของเอกชน และวางระเบียบในเรื่องความสัมพันธ์ หรือความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนด้วยกัน ได้แก่ กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์
ดังนี้เมื่อเราได้ทราบถึงความหมายของกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนแล้ว สามรถที่จะแยกความแตกต่างได้ เป็น 3 ประการคือ
1. ความแตกต่างในด้าน องค์กร คือ ในกฎหมายมหาชน รัฐในฐานะผู้ปกครองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในหน่วยงานของรัฐด้วยกัน หรือความเกี่ยวพันระหว่างตัวผู้ปกครองด้วยกันเอง ส่วนกฎหมายเอกชนนั้น เป็นกฎหมายที่ใช้สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่ใต้การปกครองด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งผู้ปกครองจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย
2. ความแตกต่างทางด้าน เนื้อหา คือ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เป็นสำคัญ ซึ่งหมายความว่า กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือของประชาชน หรือที่เข้าใจกันว่าเป็น “ประโยชน์สาธารณะ” ส่วนกฎหมายเอกชน นั้นเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสมาชิกในแต่ละองค์กร ซึ่งเข้าใจกันว่า “ผลประโยชน์ส่วนบุคคล”
3. ความแตกต่างของ “รูปแบบ” คือ กฎหมายมหาชนจะมีลักษณะเป็นการบังคับอีกฝ่ายหนึ่ง บุคคลหนึ่งสามรถที่จะบังคับให้เกิดผลทางกฎหมายแก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้โดยไม่ต้องได้รับการยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนกฎหมายเอกชน นั้นจะต้องยึดถือหลักความตกลงยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญ บุคคลคนหนึ่งไม่สามารถที่จะบังคับบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งให้มีผลผูกพันได้หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม
ความหมายของคำว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” นั้น สามารถกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายมหาชน ที่กำหนดหรือวางระเบียบ “สถาบันการเมือง” ของรัฐ ดังนี้การศึกษาถึงคำว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” นั้น ก็คือการศึกษาถึงสถาบันการเมืองในด้านกฎหมายนั่นเอง ซึ่งกฎเกณฑ์ที่กำหนดสถานะและความสัมพันธ์ ขององค์กรที่ใช้อำนาจสูงสุดต่อกันหรือต่อประชาชนและกฎเกณฑ์อื่น ซึ่งบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ที่มีการจัดทำและแก้ไขเพิ่มเติมแตกต่างจากกฎหมายธรรมดา (เน้นที่รูปแบบที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร)
อำนาจอธิปไตย
อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดของรัฐ (Supreme Authority) ที่จะบังคับให้ประชาชนในรัฐปฏิบัติตามหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เจตน์จำนงสูงสุดของรัฐ (The Supreme Will of State) ที่แสดงออกมาในลักษณะต่างๆ เช่นออกมาในรูปแบบคำสั่ง กฎหมาย ข้อบังคับ หรือ นโยบาย และผู้ที่แสดงออกซึ่งเจตน์จำนงสูงสุดนี้ก็คือ องค์อธิปัตย์ของรัฐนั่นเอง
ลักษณะของอำนาจอธิปไตยนั้น มีอยู่ 4 ประการ คือ
1. มีความสมบูรณ์ คือ มีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง และไม่มีอำนาจอื่นใดที่จะมามีอำนาจเหนือกว่า ความสมบูรณ์ของอำนาจอธิปไตยนี้
2. มีลักษณะทั่วไป คือ อำนาจอธิปไตยจะมีอยู่เหนือเอกชนและองค์กรในรัฐ จะมีข้อยกเว้นก็แต่เฉพาะผู้แทนหรือองค์กรของรัฐอื่น ได้แก่คณะทูตและภายในสถานทูต
3. มีลักษณะถาวร คือ อำนาจอธิปไตยของรัฐจะยังคงมีอยู่ตราบเท่าที่รัฐนั้นยังคงดำรงตำแหน่งเป็นรัฐอยู่ หรือตราบใดที่รัฐนั้นยังไม่ตกไปเป็นเมืองขึ้นของรัฐอื่น และแม้ว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตยจะเปลี่ยนไปจากบุคคลหนึ่งไปสู่บุคคลหนึ่ง อำนาจอธิปไตยนั้นยังคงอยู่อย่างถาวรเพราะเป็นการเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจเท่านั้น แต่ถ้าเมื่อใดที่รัฐนั้นถูกทำลายไป ก็เท่ากับว่าอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นสลายไปพร้อมกับการสูญสิ้นความเป็นรัฐของรัฐนั้น
4. มีลักษณะที่แบ่งแยกไม่ได้ คือ ในรัฐๆหนึ่งนั้นจะต้องมีอำนาจอธิปไตยเพียงอำนาจเดียว ถ้ามีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ก็แสดงว่าขณะนั้นกำลังมีการเปลี่ยนแปลงแบ่งแยกดินแดนของรัฐ หากการเปลี่ยนแปลงดินแดนสำเร็จก็จะเกิดอำนาจอธิปไตยใหม่ขึ้นมาอีกอันหนึ่ง ซึ่งก็หมายถึงการเกิดรัฐใหม่ขึ้นมานั่นเอง
สิทธิและเสรีภาพ
ความหมายของสิทธิและเสรีภาพ
สิทธิ (Right) นั้นหมายถึง อำนาจหรือประโยชน์ที่กฎหมายรับรองคุ้งครองและบังคับให้ เช่น สิทธิในการรับมรดก เป็นต้น เป็นสิทธิที่บุคคลอื่นมีหน้าที่ต้องเคารพต่อสิทธิของเรา
เสรีภาพ นั้นหมายถึง สถานภาพของบุคคลที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือ หมายถึง อำนาจที่จะกระทำการโดยไม่อยู่ภายใต้การข่มขู่ของผู้ใด หรือ หมายถึง อำนาจของบุคคลซึ่งจะกระทำหรือละเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม คำว่าสิทธิเสรีภาพสมัยนี้ นักวิชาการบางคนมีความเห็นตรงกันว่าคำสองคำนี้สามารถใช้แลกเปลี่ยนกันได้ แม้จะมิได้มีความหมายเหมือนกันนัก เปรียบเสมือนคนเรามักเรียก ด้านสองด้านของเหรียญคนละอย่าง แต่ก็หมายถึงเหรียญอันเดียวกันนั้นนั่นเอง
ประเภทของรัฐธรรมนูญ
1. รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร คือ เอกสารฉบับหนึ่ง หรือ หลายฉบับซึ่งรวบรวมกฎเกณฑ์การปกครองต่างๆของประเทศขึ้นไว้และได้จัดทำด้วยวิธีการที่แตกต่างจากการจัดทำกฎหมายธรรมดา การที่กล่าวว่าเป็นเอกสารซึ่งรวบรวมกฎต่างๆในการปกครองประเทศ ทางด้านการเมือง หมายความว่าเป็นเอกสารที่รวบรวมกฎเกณฑ์ที่กล่าวถึงตัวประมุขของรัฐ ซึ่งอาจเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดี กล่าวถึงการใช้อำนาจอธิปไตยว่าใครเป็นผูใช้ ใช้อย่างไร และ ผู้ใช้อำนาจนี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างไร การให้ความคุ้มครองและสิทธิ และ เสรีภาพ แก่ประชาชนอย่างไร วิธีการจัดทำเป็นพิเศษแตกต่างจากการจัดทำกฎหมายธรรมดา หมายความว่า ตัวผู้จัดทำรัฐธรรมนูญนั้น อาจเป็นผู้ทำการปฏิวัติก็ได้ สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือสภานิติบัญญัติก็ได้ ส่วนผู้จัดทำกฎหมายธรรมดานั้น โดยปกติจะจัดทำขึ้นมาโดยสภานิติบัญญัติที่เกิดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ
2. รัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ ที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณีนั้น หมายถึง ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี คำพิพากษาของศาลยุติธรรม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์การปกครองประเทศทางด้านการเมือง ธรรมเนียมการปฏิบัติที่ยึดถือติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน รวมกันเป็นบทบัญญัติที่มีอำนาจเป็นกฎหมายสูงสุด กำหนดรูปแบบของรัฐ ทั้งๆที่ไม่ได้เขียนรวบรวมไว้เป็นรูปเล่ม
ข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร
ข้อดี
1. รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ย่อมเป็นรัฐธรรมนูญที่มีข้อความแน่นอน และบัญญัติไว้ชัดเจนเป็นตัวหนังสือ
2. รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ถือว่าการร่างได้กระทำโดยรอบคอบแล้ว เพราะผู้ร่างนั้นได้มีโอกาสพิจารณาความบกพร่องที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และย่อมหาทางแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวแล้ว
3. รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรย่อมป้องกันมิให้เกิดปัญหาการขัดแย้งระหว่างอำนาจต่างๆของรัฐธรรมนูญ เพราะมีบทบัญญัติไว้ชัดแจ้ง
4. รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรย่อมมีความมั่งคงกว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณีเพราะย่อมใช้อยู่จนกว่าจะได้แก้ไขเพิ่มเติม โดยวิธีทางรัฐธรรมนูญหรือถูกยกเลิกไป
5. รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรย่อมเหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตยเพราะในการปกครองระบอบนี้ อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร
6. รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรย่อมกำหนดสิทธิเสรีภาพของราษฎร จึงเป็นการคุ้มครองราษฎรดีกว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณี
7. รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร การละเมิดหรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญย่อมทราบได้ง่ายเพราะมีบทบัญญัติแน่นอน
ข้อเสีย
1. การกำหนดบทบัญญัติต่างๆย่อมเป็นแต่เพียงการคาดคะเน จึงไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ หรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ เนื่องจากพฤติการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ดังนั้น รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรจึงอาจเกิดความผิดพลาดได้ ส่วนรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีนั้น เป็นสิ่งที่เหมาะสมปฏิบัติต่อเนื่องกันมา อะไรที่ไม่เหมาะสมก็ยกเลิกกันไป ดังนั้นจึงเหมาะสมกับฐานะความเป็นอยู่ของประเทศ
2. รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรมีความตายตัวมากเกินไป จึงทำให้ต้องแก้ไขกันอยู่เป็นประจำในเมื่อการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้นเกิดความไม่เหมาะสมขึ้น และในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญได้ ก็จะทำให้เกิดการปฏิวัติหรือ รัฐประหารขึ้น
3. โดยที่รัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรบัญญัติข้อความไว้แน่นอน รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรจึงมีลักษณะไม่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์บ้านเมือง เหมือนรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี
ข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี
ข้อดี
1. รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีย่อมป้องกันการปฏิวัติหรือรัฐประหารได้เพราะความไม่แข็งกระด้างตายตัวเหมือนรัฐธรรมนูญลาลักษณ์อักษร จึงไม่จำเป็นต้องละเมิดหรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลังบังคับ
2. รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีมีลักษณะ ยืดหยุ่น อาจสามารถพลิกแพลงใช้ได้ในหลายสถานการณ์
3. รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงไปโดยที่ราษฎรไม่รู้ตัว คือ เมื่อมีเหตุการณ์ใด ก็มีการปฏิบัติเช่นนั้นมาโดยตลอดจนชิน
ข้อเสีย
1. ไม่มีความแน่นอนทำให้เกิดปัญหาได้ง่าย ว่ารัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเช่นไร
2. ไม่เปิดโอกาสให้ทดลองวิธีใหม่ๆ ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้โดยวิวัฒนาการได้ เพราะวิวัฒนาการนั้นต้องอาศัยของเดิม เช่น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยทางวิวัฒนาการได้
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญอาจแก้ไขได้ 2 วิธี คือ รัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่าย และรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยาก
รัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่าย คือ รัฐธรรมนูญที่อาจแก้ไขได้ง่ายโดยวิธีเดียวกับการแก้ไขกฎหมายตามธรรมดา ฉะนั้น กฎหมายฉบับหนึ่งจึงอาจออกมาแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญได้
รัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยาก คือ รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขโดยวิธีเดียวกับการแก้ไขกฎหมายธรรมดาไม่ได้ แต่จะต้องทำโดยวิธีพิเศษและยากกว่า ฉะนั้นจึงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชนิดนี้โดยออกกฎหมายธรรมดาไม่ได้ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญมีกระบวนการแก้ไขสลับซับซ้อนและยุ่งยากกว่ากฎหมายธรรมดา
อย่างไรก็ตามความสำคัญของวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แก้ไขยากหรือง่ายนั้น ดูเหมือนจะมีไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้นว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ถ้ามีพฤติการณ์จำเป็นที่แก้ไขง่าย ถ้าไม่มีเหตุการณ์จำเป็นเกิดขึ้น ก็ไม่เห็นว่าจะมีการขอแก้ไขพร่ำเพรื่อแต่อย่างใด
การควบคุมผู้เสนอขอแก้ไข
ผู้มีสิทธิเสนอข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนมากมากจะเป็นผู้ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายให้สภานิติบัญญัติพิจารณา ซึ่งได้แก่
1. ประมุขของรัฐ
2. สมาชิกสภานิติบัญญัติ
3. ฝ่ายบริหาร
4. ประชาชน
อำนาจนิติบัญญัติ
สภานิติบัญญัติแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. ระบบสภาเดี่ยว และ 2. ระบบสภาคู่
. ระบบสภาเดี่ยว หมายถึง สภานิติบัญญัติมีเพียงสภาเดียว กล่าวคือ สมาชิกนิติบัญญัติ บัญญัติขึ้นมาทั้งหมดในประเทศนั้นประชุมใช้อำนาจนิติบัญญัติพร้อมกัน ได้แก่ หน้าที่การออกกฎหมายและควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเหมือนๆกัน
ระบบสองสภาหรือสภาคู่ หมายถึง สมาชิกทั้งหมดในประเทศนั้นแยกกันประชุมเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีสภาพและอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญจะกำหนดไป สถานที่ประชุมอาจจะใช้สถานที่เดียวกันแต่เวลาแตกต่างกันออกไป ยกเว้นในบางคราวที่อาจประชุมพร้อมกันเพื่อนพิจารณาปัญหาที่สำคัญๆระบบสองสภานี้มีใช้อยู่ในประเทศต่างๆ ที่มีรูปแบบสหพันธรัฐ และในรูปแบบของรัฐแบบรัฐเดี่ยว
อำนาจหน้าที่ในการจัดทำกฎหมาย
1. เสนอร่างพระราชบัญญัติ
2. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎร
3. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยวุฒิสภา
4. การยับยั้งร่างพระราชบัญญัติโดยประมุขของรัฐ
อำนาจบริหาร
การใช้อำนาจบริหาร เมื่อรัฐบาลผู้ใช้อำนาจบริหารประสงค์ที่จะบริหารประเทศในแนวหรือนโยบายอย่างไร ถ้ายังไม่มีกฎหมายสนับสนุน ก็จะต้องขอให้สภานิติบัญญัติออกกฎหมายแก่ฝ่ายบริหาร เพื่อจะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศต่อไป กล่าวอีกในหนึ่ง การใช้อำนาจบริหาร คือการนำกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติตามนโยบายหรือแนวการบริหาร
ผู้ใช้อำนาจบริหาร
1.คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร บริหารประเทศร่วมกับรัฐมนตรีต่างๆ ซึ่งประกอบขึ้นเป็นคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีนี้จะปรากฏในประเทศที่รัฐบาลในระบบรัฐสภาเท่านั้นจะไม่ปรากฏในระบบในประเทศที่มีรัฐบาลในระบบประธานาธิบดี
2.ประธานาธิบดี ในประเทศที่มีรูปแบบรัฐบาลในระบบประธานาธิบดี นอกจากประธานาธิบดีจะมีฐานะเป็นประมุขของประเทศแล้ว ยังมีหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารอีกด้วย แต่ในระบบนี้ไม่มีการบริหารในรูปแบบคณะรัฐมนตรี ส่วนประธานาธิบดีในระบบรัฐสภานั้น ประธานาธิบดีจะมีฐานะเป็นประมุขของรัฐเท่านั้น ส่วนอำนาจในการบริหารประเทศ คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารแทนประมุขรัฐ
อำนาจหน้าที่ขององค์กรบริหาร
ฝ่ายบริหาร หรือ ผู้ใช้อำนาจบริหาร นั้น ถ้าเป็นรัฐบาลในรูปแบบประธานาธิบดีนั้น ผู้ใช้อำนาจบริหารคือ ประธานาธิบดี ซึ่งมีฐานะเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยมีรัฐมนตรีต่างๆ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาแก่ประธานาธิบดี ส่วนรัฐบาลในรูปแบบรัฐสภานั้น ผู้ใช้อำนาจบริหารคือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นรัฐมนตรี ทำหน้าที่บริหารประเทศ
อำนาจตุลาการ
ระบบศาล ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้จัดระบบศาลขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้มีศาล 4 ประเภท ได้แก่
1. ศาลรัฐธรรมนูญ
จะเป็นศาลที่มีภารกิจสำคัญในอันที่จะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และมีอำนาจหน้าที่หลายประการที่สำคัญ คือ การควบคุมมิให้ร่างกฎหมายและกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ตลอดจนวินิจฉัยขี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
2. ศาลยุติธรรม
เป็นศาลที่มีหน้าที่หลักในการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ไม่ว่าเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา เป็นศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป กล่าวคือ หากมีข้อพิพาทใดเกิดขึ้น แต่ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลใดศาลหนึ่ง เอกชนสามารถนำคดีมาฟ้องร้องยังศาลยุติธรรม
3. ศาลปกครอง
เป็นศาลที่มีหน้าที่หลักในการพิจารณาคดีปกครอง ได้แก่ คดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสั่งการของผู้บังคับบัญชา
4. ศาลทหาร
เป็นศาลที่มีหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหาร และคดีอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ
----------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
1. พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550
2. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. กฎหมายมหาชน เล่ม 3 ที่มาและนิติวิธี. (กรุงเทพฯ : นิติธรรม). 2538
3. หยุด แสงอุทัย. หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. 2538
4. บุญศรี มีวงษ์อุโฆษ. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์). 2551
5. มานิตย์ จุมปา.ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 10. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 2553
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น